ข่าวสารและกิจกรรม

กรณีศึกษา แบรนด์ที่นอน Omazz ร่วมลงทุนสร้างโรงหนัง 50 ล้าน

27/10/2565 | Nook

ไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนน่าจะมีโอกาสได้เห็น แคมเปญโรงภาพยนตร์ The Bed Cinema ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างแบรนด์ที่นอน Omazz กับโรงหนัง SF แคมเปญดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจ ทำให้ในช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา ลงทุนแมนลองไปใช้บริการว่าเป็นอย่างไรซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของบทความนี้ อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะไม่ใช่การรีวิวหนัง รีวิวที่นอน แต่จะนำเสนอในเชิงกรณีศึกษาธุรกิจ ของแบรนด์ที่นอน Omazz ที่ได้ตัดสินใจลงทุนร่วมกับ SF ว่ามันยังมีรายละเอียดอะไรซ่อนอยู่แล้วการร่วมมือครั้งนี้นอกจากเปลี่ยนที่นั่ง เป็นเตียงแล้วยังมีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง? ลงทุนแมนจะมาวิเคราะห์ให้ฟัง

omazz-longtunman

เรื่องแรกที่น่าจะมีคำถามขึ้นมาในหัวทันที หลังได้ยินข่าวการลงทุนครั้งนี้ ก็คือ ทำไมเตียงที่นอนสำหรับ 40 ที่นั่งถึงมีมูลค่าตั้ง 50 ล้านบาท หากเรานำมูลค่าการลงทุนโรงหนังมาคำนวณจะพบว่า ต้นทุนในการสร้างโรงหนังของ Omazz เฉลี่ยแล้ว สูงถึง 1.25 ล้านบาท ต่อที่นั่ง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็ถือเป็นมูลค่าที่สูง และทำให้คิดต่อได้ว่า หากเราจะลงทุนสร้างโรงหนัง 1 โรง เราจะมีต้นทุนสร้าง อะไรบ้าง?

จากตรงนี้ ลงทุนแมนก็ได้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า Omazz เลือกที่นอนในโรง The Bed Cinema เป็นรุ่น Adjusto™ ซึ่งเป็นที่นอนไฟฟ้า ที่มีระดับราคาเริ่มต้นประมาณ 5 แสนบาท ไปจนถึง 7 แสนบาท ซึ่งก็ดูเหมือนว่าทางแบรนด์ Omazz ก็ได้นำเตียงทุกขนาดมาใส่ไว้ที่นี่เพราะระหว่างการจองตั๋ว เราก็จะมีตัวเลือกตั้งแต่

  • 1 ที่นั่ง เป็นเตียง Twin
  • 2 ที่นั่ง เป็นเตียง Queen Size
  • 4 ที่นั่ง เป็นเตียง King Size

จะเห็นได้ว่า Omazz วางตำแหน่งไว้ว่าเป็นแบรนด์พรีเมียม และมีราคาสูงโดยแค่ค่า เตียง ก็คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณการสร้างโรงภาพยนตร์นี้แล้วในโลกที่ทุกวันนี้มีแต่การทำการตลาดแบบเดิมๆเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า Omazz กำลังลองทำการตลาดในรูปแบบใหม่ๆ ให้คนจดจำผ่านการสร้างประสบการณ์ในโรงภาพยนตร์ จุดนี้เองที่ถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจ
เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างแคมเปญ หรือการโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรืออินสตาแกรม ได้กลายมาเป็นท่ามาตรฐานของสินค้าแทบทุกประเภทในยุคนี้แต่สิ่งหนึ่งที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ ยังนำเสนอกับเราไม่ได้ก็คือ “ประสบการณ์การใช้งาน”

สินค้าบางประเภท เช่น บ้าน รถยนต์ หรือ ที่นอน ยิ่งมีมูลค่าสูง มากแค่ไหนประสบการณ์ในการไปดูด้วยตาตัวเอง หรือไปทดลองจริง ก็ยิ่งสำคัญมากเท่านั้นในกรณีของแบรนด์ Omazz ที่เข้าไปลงทุนสร้างโรงหนังร่วมกับ SFก็ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าทางบริษัทน่าจะมองการลงทุนครั้งนี้เป็นทั้งโอกาสในการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ควบคู่ไปกับการสร้างโชว์รูมในโรงหนังเพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า หรือผู้ที่รู้จักแบรนด์ ก็เป็นได้

ซึ่งการเปลี่ยนโรงหนัง เป็นโชว์รูม ก็ถือเป็นไอเดียที่น่าสนใจเพราะว่าลูกค้าโรงหนังแต่ละคนจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมง ในการรับชมภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ซึ่งนั่นก็เท่ากับระยะเวลาที่ลูกค้าคนนั้นจะได้ทดลองนอนเตียงของ Omazz ซึ่งก็น่าจะมากกว่าลูกค้าที่ไปทดลองนอนบนเตียงแบรนด์ต่าง ๆ บนห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ การออกแบบบรรยากาศ และล็อบบี้ก่อนเข้าชมภาพยนตร์ก็มีลักษณะคล้ายกับห้องนั่งเล่นที่บ้าน โดยเราสามารถเดินไปหยิบเครื่องดื่ม ขนม หรือพ็อปคอร์นได้ตามที่เราอยากทาน เพราะค่าตั๋วได้ถูกออกแบบมาให้ครอบคลุมสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว อีกสิ่งสำคัญก็คือเรื่องของความสะอาด ที่เป็นคำถามแรกของลงทุนแมนที่สอบถามกับพนักงานขายตั๋วที่ว่า ผ้าปูเตียง หมอน ผ้าห่ม เปลี่ยนทุกรอบหรือไม่ โดยทางพนักงานก็ได้บอกว่า The Bed Cinemaมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่นอนทุกรอบหลังหนังจบ ซึ่งหนังที่ The Bed Cinema เปิดฉาย และลงทุนแมนเข้าไปดูก็คือ อ้ายคนหล่อลวง จากค่าย gdh

หลังจากดูจบ ก็คงสรุปได้ว่า
นอกจากรอยยิ้มของ คุณใบเฟิร์น นางเอกของเรื่อง ที่ลงทุนแมนสนใจแล้วอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยก็คือ กลยุทธ์การตลาดแนวใหม่ ของแบรนด์ Omazz นั่นเอง..